วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

วัตถุมงคลของวัดบางน้ำวน

เหรียญหล่อหลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน

 
 หลวงปู่รอด เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง มีประวัติเรื่องราวอภินิหารกล่าวขวัญกันมามากมาย ท่านได้จัดสร้างรูปเหมือน เครื่องรางของขลังที่โด่งดังมีราคาบูชากันหลักแสน หลักล้าน อาทิ "เหรียญหล่อรูปเหมือนแซยิด" เมื่อปี 2477 ปัจจุบันสภาพสวยเดิม คมชัดดูง่าย สนนราคาเล่นหลักแสนหลักล้าน "เหรียญหล่อโบราณ" ที่จัดสร้างมีทั้ง "พิมพ์ยืดและพิมพ์ ต้อ" ปกติจะหล่อเต็มเขียนว่า "งานแซยิด พุทฺธสัณโฑ พ.ศ. ๒๔๗๗" หลังเรียบ หูในตัว เททองหล่อด้วยเนื้อสำริดมีส่วนผสมของทองโบราณ เงินโบราณ เครื่องใช้สำริด และแผ่นยันต์แผ่นจาร และเหรียญปั๊มแซยิด ปี 2477 เหรียญหล่อพิมพ์สี่เหลี่ยมกรรมการ เหรียญหล่อพิมพ์สามเหลี่ยม ยกมือเดียว พนมมือ เหรียญหล่อพิมพ์แจกแม่ครัว เหรียญปั๊มเสมา อัลปาก้า

นอกจาก นั้นยังมีเครื่องรางของขลัง เช่น ชูชก ถือว่าเป็นต้นตำหรับเป็นตำนานที่ได้นำไม้ที่เป็นมงคลมาแกะ เช่น ไม้ขนุน งาช้าง แกะเป็นชูชก ส่วนงาท่านจะนำเอางากำจัด งากำจาย งากระเด็น ซึ่งมีความเชื่อกันว่าเป็นของคงทนสิทธิ์ มีดีอยู่ในตัวไม่มีอะไรมาทำให้เสื่อมสลายได้ นอกจากกฎแห่งกรรม สิงห์ หรือ ราชสีห์ ก็เป็นเครื่องรางของขลังอีกชนิดหนึ่ง ที่ผู้ใหญ่ผู้ที่จะมีอำนาจให้ยั่งยืนก็ใฝ่หาสิงห์หลวงปู่รอด

ปัจจุบัน วัตถุมงคลของท่านไม่ว่าจะเป็นเหรียญหล่อ เหรียญปั๊ม เครื่องรางของขลัง วัตถุที่เป็นมงคล เช่น ผ้ายันต์ หรือตะกรุด หรือแผ่นยันต์หัวเสา ก็เป็นที่นิยมปรารถนาของศิษยานุศิษย์และบุคคลทั่วไป ที่มีความเชื่อว่าวัตถุมงคลของหลวงปู่รอด เมื่อได้มาแล้วพกพาอาราธนาติดตัวก็จะรอดพ้นจากภัยพิบัตินานัปการ รอดพ้นจากความยากความจน รอดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ และที่สำคัญรอดพ้นจากความทุกข์ ทั้งกายและใจ ตรงกันข้ามจะดลบันดาลให้มีความสุข ความเจริญ มี อายุยืนยาวนานตลอดกาลนาน

ปกติ เหรียญแซยิดของหลวงปู่รอดที่หล่อเต็มองค์ มีให้ดูทั่วไปแต่เหรียญที่ตัดและแต่งมาเดิมๆ ที่เรียกว่าเหรียญจอบ หลวงปู่รอด นั้นหาชมได้ยาก สภาพเดิมๆ ที่ตัดและแต่งมาเดิมๆ นั้นราคาแพงกว่าเหรียญที่หล่อเต็มๆ เพราะจะหาชมสักเหรียญหนึ่งก็ยิ่งยาก มีตำนานจากคนเฒ่าคนแก่ที่ทันหลวงปู่รอด เล่าให้ฟังว่า เหรียญจอบ หรือ เหรียญพิเศษ ท่านจะมอบให้กับบุคคลสำคัญ และคนใกล้ชิดที่ช่วยเหลืออุปถัมภ์วัดมาตลอด

ฉะนั้นเหรียญจอบหลวงปู่รอด จึงพบเห็นได้น้อย เพราะการสร้างจำนวนไม่มาก พุทธคุณในด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี จะเด่นในเรื่องกฤตยาคมคงกระพันชาตรีสมบูรณ์แบบครบวงจรใน พระเกจิอาจารย์ครั้งโบราณจนถึงปัจจุบันกล่าวไว้ว่า บุคคลใดมีไว้ในครอบครองจะเป็นมงคล เป็นที่รักของคนดี เป็นที่เกรงกลัวสำหรับคนไม่ดี จะให้คุณกับผู้ที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบ
หลวงปู่รอด พุทฺธสณฺโฑ : เทพเจ้าวาจาศักดิ์สิทธิ์ วัดบางน้ำวน ต.บางโทรัด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
พระเกจิอาจารย์ในอดีตที่เกิดในยุคเดียวกันของจังหวัดสมุทรสาคร คือ หลวงปู่รุ่ง วัดท่ากระบือ หลวงพ่อแง วัดเจริญสุขาราม และหลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน โดยเฉพาะหลวงปู่รอด ได้รับฉายาว่า เทพเจ้าวาจาศักดิ์สิทธิ์
หลวงปู่รอด พุทฺธสณฺโฑ หรือพระครูรอด พุทฺธสณฺโฑ อดีตเจ้าอาวาสวัดบางน้ำวน เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในอดีต มีพุทธาอาคม เช่น เมตตามหานิยม วิชาคงกระพันชาตรี วิชาทำธงกันฝน วิชาทำตะกรุด วิชาทำผ้ายันต์ บังไพร วิชาแพทย์แผนโบราณ
ท่านพำนักอยู่ที่วัดบางน้ำวน ตั้งอยู่ท้องที่ หมู่ที่ ๔ ต.บางโทรัด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร มีที่ดินตั้งวัด จำนวน ๕๔ ไร่ ๑ งาน ๗๔ ตารางวา วัดนี้สร้างขึ้นประมาณพ.ศ. ๒๓๗๔
สถานที่วัดตั้งอยู่ใกล้กับถนนสายธนบุรี-ปากท่อ ก.ม. ที่ ๔๐ ออกจากกรุงเทพ ฯ อยู่ทางซ้ายมือ มีถนนเชื่อมต่อถึงวัด ประมาณ ๑,๖๐๐ เมตร ด้านหน้าวัดใกล้คลองซึ่งเป็นสามทางมาบรรจบกัน ทางหนึ่งคือลำน้ำแยกมาจากแม่น้ำท่าจีนไหลหักมุมเป็นคุ้งน้ำเข้ามาด้านหน้าวัด ซึ่งมีความกว้างประมาณ ๑๐๐ เมตร สายที่สองเชื่อมต่อกับคลองสุนัขหอนไปออกแม่น้ำแม่กลอง และสายที่สามเป็นคลองท่าแร้ง ซึ่งไหลมาบรรจบกันที่บริเวณหน้าวัดจนเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติคือ น้ำวน ชาวบ้านจึงนิยมเรียกวัดแห่งนี้ว่า วัดบางน้ำวน อาณาเขตด้านหน้าวัดทางทิศตะวันออกติดชายคลองกว้างประมาณ ๑๕๐ เมตร ซึ่งห่างจากวัดใหญ่บ้านบ่อและวัดใต้บ้านบ่อเป็นระยะทาง ๒ ก.ม. ด้านทิศตะวันตก ห่างจากวัดเกตุมดีศรีวรารามเป็นระยะทาง ๓ กม. ทิศใต้จรดชายคลองเชื่อมต่อสุนัขหอน และด้านทิศเหนือห่างจากถนนธนบุรี-ปากท่อ ๑,๖๐๐ เมตร การเดินทางไปวัดสะดวกสบาย
ปัจจุบัน พระใบฎีกาพงษ์ศักดิ์ ขนฺติพโล เป็นเจ้าอาวาสวัดบางน้ำวน และเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าคณะตำบลบ้านบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ได้พัฒนาวัดสานต่อจากพระอธิการแค หลวงปู่รอด พุทฺธสณฺโฑ พระอธิการเชื่อม โชติปาโล พระอธิการบุญกรี ติสฺสวํโส พระครูสาครธีรคุณ (ประชุม ธีรปญฺโญ)
ทางวัดบางน้ำวนมีกิจกรรมเข้าค่ายพุทธบุตร อบรมเยาวชนของกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรมและปฏิบัติธรรมของประชาชน
ชาติภูมิ ท่านเกิดวันพุธ เดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีกุน พ.ศ.๒๔๐๖ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ บิดาชื่อ นายทองดี มารดาชื่อ นางเกษม นามสกุล บุญส่ง ชาวรามัญ บ้านบางโทรัด
ชีวิตในวัยเยาว์ ในวัยเยาว์ ท่านเป็นเด็กขี้โรค อ่อนแอ ดามารดาจึงยกให้เป็นบุตรบุญธรรมพระอธิการแค ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดบางน้ำวนในขณะนั้น ตั้งแต่นั้นมา ท่านก็หายจากโรคภัย จึงขนานนามว่า “รอด”
บรรพชาและอุปสมบท
เมื่ออายุ ๑๒ ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรและได้เริ่มเรียนวิชากับพระอธิการแค เป็นต้นมา จนกระทั่งอายุ ๒๐ ปี ได้อุปสมบท มีฉายาว่า “พุทฺธสณฺโฑ” โดยมีพระอธิการแค เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระอาจารย์แจ้ง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ มีพระอาจารย์ปั้น เป็นพระอนุสาวนาจารย์

การศึกษา ท่านได้ศึกษาพระธรรมวินัย วิปัสสนากรรมฐาน และพุทธาคม เช่น เมตตามหานิยม วิชาคงกระพันชาตรี วิชาทำธงกันฝน วิชาทำตะกรุด วิชาทำผ้ายันต์ บังไพร วิชาแพทย์แผนโบราณ ภายหลังท่านได้ออกธุดงค์ ไปยังประเทศพม่าเพื่อศึกษาวิชาให้แก่กล้าเป็นเวลาหลายปี
คุณลักษณะพิเศษ
ท่านมีคุณลักษณะพิเศษหลายประการ ได้แก่
๑. ดวงตาท่านเป็นวาวเหมือนดังกงจักรอยู่ในตารูปกลม ใสดุจเพชรตาแมว ไม่มีใครกล้าจ้องหน้ากับท่านเพราะมีอำนาจซ่อนเร้นอยู่ในนัยน์ตา
๒. ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ให้การอุปสมบทให้ได้ แต่จะไม่ยอมรับลาสิกขากับผู้ใด หากจะลาสิกขาให้ไปลากับพระรูปอื่น เพราะถือว่า ท่านบวชของท่านมาจะไม่ทำลายจากพระสู่ฆราวาสเด็ดขาด
๓. ท่านจะไม่ยอมลอดของต่ำ เช่น ใครมานิมนต์กิจ ถ้าเป็นบ้าน ๒ ชั้น ท่านจะไม่ยอมลอดไต้ถุนบ้านขึ้นไปชั้นบน ต้องใช้บันไดพาดขึ้นทางหน้าต่าง
ปาฏิหาริย์ มีเรื่องเล่ากันมากมายเกี่ยวกับปาฏิหาริย์ของหลวงปู่ ได้แก่
๑. เมื่อถึงงานประจำปี ปีใดเกิดมีเมฆฝนทำท่าว่าจะตก ท่านจะเสกธงฝังตะกรุดแล้วให้ชักขึ้นเสา พอธงขึ้นสู่ยอดเสา กลุ่มเมฆก็เคลื่อนไปทางอื่น ทุกคนในงานเห็น ทำให้น่าอัศจรรย์
๒. เรื่องวาจาสิทธิ์ คราวหนึ่งมีคนมาพักที่วัด มียุงชุมมากขนาดมาเป็นกลุ่ม ๆ กัดจนนอนไม่ได้ หลวงปู่สั่งให้ไปนอนในอุโบสถ บอกไม่มียุง เมื่อเข้าไปนอนแล้ว ยุงไม่กัดแม้แต่ตัวเดียว น่าอัศจรรย์
๓. สิงห์กลายเป็นเสือ ป้องกันคนลักขโมยของหน้ากุฏิหลวงปู่ วันหนึ่งมีคนมาลักขโมยของที่หน้ากุฏิหลวงปู่ เห็นเสือเดินอยู่หน้ากุฏิเกิดความกลัวจึงหนีไป
๔. เรื่องกระสุนคด ครั้งหนึ่งมีเด็กวัดนัดชกต่อยกันที่ทุ่งนา หลวงปู่แผ่เมตตาจิตเห็น จึงยิงลูกกระสุนคดออกไปทางหน้าต่างไปโดนหัวเด็กที่มีเรื่องถึงกับหัวโน เด็ก ๆ ก็แยกกลับ
วัตถุมงคล
หลวงปู่ได้ทำวัตถุมงคลต่าง ๆ ได้แก่ ตะกรุด ผ้ายันต์ ธง แผ่นประทีป สิงห์ แหวน เหรียญหล่อสามเหลี่ยมรุ่นแซยิด
ชีวิตในบั้นปลาย เมื่อเข้าสู่วัยชรา ชาวบ้านขอร้องให้ท่านได้โปรดญาติโยมอยู่ประจำที่วัดบางน้ำวน ท่านได้ตั้งกฎระเบียบทำวัตรปฏิบัติธรรมของวัดบางน้ำวน จากสองทุ่มถึงสี่ทุ่ม จนเป็นกิจวัตรของวัดบางน้ำวน และมีการตีกลองระฆังย่ำค่ำ จนถึงปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น